ตำนานสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ตำนาน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๔๓๑ ให้ความหมายคำ ตำนานไว้ว่า เรื่องราวนมนานที่เล่ากันสืบๆ มา เช่น ตำนานพระพุทธเจดีย์สยาม
ตำนานในคติชนวิทยา หมายถึง เรื่องเล่าที่แปลกจากเรื่องธรรมดา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความเป็นมาเกี่ยวกับบุคคลและสถานที่โดยเชื่อกันว่าเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในท้องถิ่น และมีส่วนประกอบที่เหนือธรรมชาติร่วมอยู่ด้วย ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวบ้านในยุคนั้นตำนานเป็นเรื่องเล่ากันมาก่อนจะมีการรวบรวมเป็นลายลักษณ์อักษร

พระพุทธบาท สระบุรี




มีตำนานเล่ากันมาว่า เมื่อครั้งพระสงฆ์ไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปประเทศลังกา เพื่อนมัสการพระพุทธบาทที่เขาสุมนกูฏ และได้รับคำถามจากพระสงฆ์ลังกาว่า พระพุทธบาทในประเทศไทยประดิษฐานอยู่ที่เขาสุวรรณบรรพต เหตุใดจึงไม่ไปนมัสการ และทำไมถึงกลับดั้นด้นเดินทางมาถึงประเทศลังกา เมื่อพระสงฆ์ไทยเดินทางกลับมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว จึงกราบทูลสมเด็จพระเจ้าทรงธรรมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว พระองค์จึงโปรดฯ ให้มีตราสั่งไปยังหัวเมืองเพื่อสำรวจรอยพระพุทธบาท
ตำนานเล่าถึงนายพรานคนหนึ่งชื่อบุญ ซึ่งเที่ยวล่าสัตว์ป่าตามบริเวณเขาสุวรรณบรรพต เมืองสระบุรี วันนั้นพรานบุญยิงเนื้อตัวหนึ่ง แต่เป็นที่น่าประหลาด ปรากฏว่าเนื้อตัวนั้นได้วิ่งหายเข้าไปในพุ่มไม้ใกล้เชิงเขา ต่อมาครู่หนึ่งมันวิ่งออกมาด้วยอาการปกติ โดยไม่มีบาดแผลแต่อย่างใด ยังความพิศวงแก่พรานบุญยิ่งนัก
วันต่อมาเมื่อกวางถูกยิ่งก็เป็นเช่นนี้อีก พรานบุญจึงเข้าไปดูที่พุ่มไม้ นั้นก็พบรอยเท้าคนขนาดใหญ่อยู่ในศิลา จึงทำให้เกิดความเชื่อว่าน้ำในรอยเท้านี้เองคงศักดิ์สิทธิ์ พรานบุญตักน้ำขึ้นมาลูบตามเนื้อตามตัวของตน พลันกลากเกลื้อนและแผลตามผิวหนังก็อันตรธานสิ้น พรานจึงมั่นใจว่ารอยเท้าขนาดใหญ่นี้คงเป็นรอยพระพุทธบาท จึงไปแจ้งต่อเจ้าเมืองสระบุรี เมื่อเจ้าเมืองและกรมการเมืองมาตรวจสอบก็เห็นเป็นความจริงดังพรานบุญว่าทุกประการ จึงมีใบบอกแจ้งมายังเมืองหลวง
พระเจ้าทรงธรรมเสด็จไปทอดพระเนตร จึงทรงโสมนัสอย่างยิ่ง และโปรดฯ ให้สร้างมหาเจดียสถาน มีมณฑปสวมรอยพระพุทธบาทมาจนบัดนี้ และมีประเพณีเทศกาลบูชาพระพุทธบาทกลางเดือนสามและกลางเดือนสี่เป็นประจำทุกปี
พระพุทธบาทประดิษฐานอยู่ที่เขาสุวรรณบรรพต ตำบลขุนโขลน อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

พระพุทธรูปลอยน้ำ



ตำนานเกี่ยวกับพระพุทธรูปสามองค์ลอยน้ำ ซึ่งลอยมาจากทางเหนือนั้นเป็นที่รู้จักกันดีคือ หลวงพ่อวัดบ้านแหลม ปางอุ้มบาตร เป็นองค์พี่ หลวงพ่อโสธร ปางนั่งสมาธิ เป็นองค์กลาง และหลวงพ่อโต ปางนั่งสมาธิ  เป็นองค์น้องสุดท้อง พระพุทธรูปดังกล่าวนี้องค์ใหญ่ที่สุดคือ หลวงพ่อโต องค์น้องสุดท้องนั่นเอง
พระพุทธรูปทั้งสามได้ล่องลอยมาตามลำน้ำเจ้าพระยา จนถึงตำบลหนึ่งก็แสดงองค์ให้ชาวบ้านได้เห็นชาวบ้านล้วนศรัทธาชวนกันมาอย่างคับคั่งเป็นจำนวนสามแสนคน โดยออกแรงฉุดลากพระพุทธรูปดังกล่าว แต่ปรากกว่าพระพุทธรูปไม่ยอมขึ้นจากน้ำ ที่แห่งได้ชื่อว่า สามแสนต่อมาเสียงเพี้ยนเป็น สามเสนปัจจุบันคือ เขตสามเสน กรุงเทพมหานคร
             พระพุทธรูปทั้งสามลอยน้ำมาจนกระทั่งถึงแม่น้ำบางปะกงและลอยไปถึงคลองบางพระ จังหวัดฉะเชิงเทรา ชาวบ้านจึงได้อาราธนาขึ้นจากน้ำอีกครั้ง แต่พระพุทธรูปยังคงลอยน้ำต่อไปอีก จนกระทั้งพระพุทธรูปองค์พี่ลอยไปตามลำน้ำแม่กลอง แล้วชาวบ้านอาราธนาขึ้นประดิษฐานที่วัดบ้านแหลม (วัดเพชรสมุทรวรวิหาร) จังหวัดสมุทรสงคราม มาจนบัดนี้ ฝ่ายพระพุทธรูปองค์กลางคือ หลวงพ่อโสธร กลับลอยทวนน้ำไปถึงวัดเสาทอน ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง หวัดฉะเชิงเทรา แล้วประดิษฐาน ณ วัดแห่งนี้ ปัจจุบันคือ วัดโสธรวรารามวรวิหาร
             ส่วนพระพุทธรูปองค์น้องสุดท้อง ลอยเข้าไปในคลองสำโรงแม่น้ำเจ้าพระยา ชาวบ้านได้ทำแพผูกติดกับองค์พระพุทธรูป แล้วใช้เรือพายจูงไปตามลำคลอง ครั้นถึงวัดบางพลีใหญ่ก็ปรากฏปาฏิหาริย์ คือ หลวงพ่อหยุดอยู่กับที่ จนเรือและแพไม่สามารถเคลื่อนต่อไปได้ ชาวบ้านจึงอาราธนาขึ้นประดิษฐาน ณ วัดบางพลีใหญ่ใน หรือ วัดพลับพลาชัยชนะสงคราม จังหวัดสมุทรปราการ
              บางตำนานก็เล่าว่า พระพุทธรูปมีถึงห้าองค์ คือนอกจากพระพุทธรูปสามองค์ดังกล่าวแล้ว ที่เพิ่มอีกสององค์คือ หลวงพ่อวัดไร่ขิง ลอยมาตามแม่น้ำนครไชยศรี ขึ้นประดิษฐานที่วัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม และอีกองค์หนึ่งคือ หลวงพ่อเขาตะเครา ลอยมาตามแม่น้ำเพชรบุรี ขึ้นประดิษฐานที่วัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี

วัดพระนอนจักรสีห์ สิงห์บุรี



           วัดพระนอนจักรสีห์ จังหวัดสิงห์บุรี มีเรื่องเล่าเป็นตำนานหลายสำนวน ดังเช่นสำนวนแรกเล่าว่า สมัยนั้นมีสิงห์หรือราชสีห์หนุ่มไปหลงรักธิดาเศรษฐีนางหนึ่ง ด้วยบุพเพสันนิวาสทำให้ธิดาสาวสวยมีใจปฏิพัทธ์ราชาแห่งสัตว์ป่า ในที่สุดทั้งคู่ไปอยู่ในถ้ำด้วยความสุขสืบมา จนกระทั่งมีบุตรชายชื่อ สิงหนพาหุ
          เมื่อสิงหนพาหุเจริญวัยเป็นหนุ่มน้อย เขาจึงถามถึงบิดา ซึ่งเข้าใจว่าบิดาเป็นมนุษย์ ในที่สุดบุตรชายทราบความจริงจากมารดาว่า บิดาเป็นราชาแห่งสัตว์ผู้ยิ่งใหญ่ ทำให้สิงหนพาหุรู้สึกไม่พอใจและเคียดแค้นสิงห์อย่างยิ่ง
ในที่สุดสิงหนพาหุก็กระทำปิตุฆาต เข้าจ้วงแทงสิงห์จนตายและเอากิ่งโพธิ์คลุมศพไว้ เมื่อเขาเห็นมารดาโศกเศร้าและรำพึงรำพันถึงสิงห์ ทำให้สิงหนพาหุสำนึกในบาปกรรม เขาจึงสร้างพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ ซึ่งต่อมาเรียกว่า พระนอนจักรสีห์ และสถานที่ตรงนั้นเรียกว่า สระล้างบาป
          อีกสำนวนหนึ่งเล่าว่า เจ้าเมืองสิงห์บุรี มีพระธิดาทรงสิริโฉมจนเป็นที่เลื่องลือ และพระธิดาเลี้ยงสุนัขตัวหนึ่งซึ่งเป็นที่โปรดปรานเมื่อเสด็จไปแห่งใด สุนัขจะติดตามพระธิดาไปแห่งนั้นเสมอ
         ต่อมาพระธิดาตั้งครรภ์ขึ้นมา ชาวบ้านพากันพูดว่า พระธิดามีครรภ์กับสุนัขนั่นเอง เมื่อความทราบถึงเจ้าเมือง พระองค์จึงขับไล่พระธิดาและสุนัขออกจากเมืองทันที
          หลังจากนั้นพระธิดาได้กำเนิดบุตรชาย มีนามว่า พระยาจักรสีห์ โดยนางได้เลี้ยงดูบุตรชายจนกระทั่งเจริญวัยเป็นหนุ่ม อยู่มาวันหนึ่งพระยาจักรสีห์ถามมารดาว่า บิดาของตนคือใคร และอยู่แห่งใด เพราะตั้งแต่เกิดมาไม่เคยเห็นบิดาเลย ในที่สุดมารดาก็บอกความจริง จึงทำให้พระยาจักรสีห์ผิดหวัง ละอาย และเคืองแค้น จนกระทั่งบุตรชายหลอกมารดาตนเพื่อไปท่องเที่ยวในป่า จากนั้นจึงสังหารสุนัขทันที
          ขณะกระทำปิตุฆาตนั้น ท้องฟ้าและแผ่นดินมืดมัวไปทั่ว พระยาจักรสีห์ตกใจมาก จึงกรีดท้องไส้สุนัขพันรอบศีรษะตน ทันใดนั้นเองท้องฟ้าและแผ่นดินกลับสว่างไสวตามเดิม
ในที่สุดพระยาจักรสีห์สำนึกในบาปกรรม จึงได้สร้างพระพุทธไสยาสน์ ซึ่งต่อมาคือ พระนอนจักรสีห์ นั่นเอง

พระปฐมเจดีย์ นครปฐม (พญากง พญาพาน)

 



           พญากงเป็นเจ้าเมืองนครปฐมโบราณ หรือเรียกกันว่า นครชัยศรี เล่ากันว่าเมื่อมเหสีพญากงประสูติพระกุมาร พี่เลี้ยงเอาพานรองรับแต่บังเอิญพานไปกระแทกหน้าผากพระกุมาร จนกระทั่งปรากฏรอยแผลเป็น จึงตั้งชื่อพระกุมารว่า พญาพาน
          ต่อมาพญากงให้โหรทำนายดวงชะตาพระกุมาร โหรทำนายว่าเมื่อพระกุมารเจริญวัยเป็นหนุ่มจะฆ่าบิดาตน พญากงจึงนำพระกุมารลอยแพเพื่อขจัดปัญหายุ่งยากในอนาคต ในที่สุดแพไปติดอยู่บริเวณริมตลิ่งหน้าบ้านของยายหอม ยายหอมมีความรักและสงสาร จึงนำพระกุมารไปเลี้ยงจนเติบใหญ่ และส่งไปเรียนหนังสือกับชีปะขาวซึ่งมีวิทยาคมแก่กล้าจนเป็นที่เลื่องลือ
          วันหนึ่งช้างทรงของพญาราชบุรีตกมันอาละวาด และสลัดหมอควาญออกวิ่งไล่แทงฝูงชน ปรากฏว่าไม่มีผู้ใดปราบช้างเชือกนี้ได้สำเร็จ ยกเว้นแต่พญาพานที่จับช้างได้ จนพญาราชบุรีมีความชื่นชมในความสามารถและรับพญาพานเป็นบุตรบุญธรรม
          ต่อมาเกิดศึกระหว่างเมืองราชบุรีกับเมืองนครชัยศรี นั่นคือการรบระหว่างพญากงกับพญาพาน ซึ่งปรากฏว่าพญากงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้และถูกพญาพานประหารดังคำทำนายของโหร บริเวณที่ทำศึกครั้งนั้นเรียกว่า ถนนขาดเป็นแนวถนนโบราณตัดจากเมืองนครปฐมไปยังวัดยายหอม หรือโคกพระ
          เมื่อพญาพานยึดเมืองนครชัยศรีได้แล้ว จึงเข้าครองเมืองและครองมเหสีของเจ้าเมือง ขณะพญาพานจะเข้าโอ้โลมพระมารดาของตน เทวดาก็แปลงองค์เป็นแมวลูกอ่อนพูดว่า ฆ่าพ่อแล้วจะเอาแม่ทำเมียอีกเป็นบาปอย่างยิ่ง พญาพานได้ฟังแมวพูดดังนั้นแล้วก็เกิดความสงสัย จึงอธิฐานว่า ถ้ามเหสีของเจ้าเมืองเป้นพระมารดาของตนขอให้น้ำนมไหลจากถันทั้งคู่ของนาง ในที่สุดก็เป็นตามคำอธิฐานและทำให้พญาพานทราบความจริง จึงทำให้โศกเศร้าเสียใจและยังตามไปฆ่ายายหอม โดยพาลว่ายายหอมทำไมไม่บอกความจริงให้ทราบ ถิ่นที่ยายหอมเคยตั้งบ้านอยู่นั้นยังเรียกว่า โคกยายหอม
          ในที่สุดพญาพานสำนึกในบาปกรรมที่ฆ่าผู้มีพระคุณ ทั้งบิดาและยายหอมผู้เคยเลี้ยงดูตั้งแต่นำขึ้นจากแพจนเจริญวัยเป็นหนุ่มน้อย พญาพานจึงสร้างพระเจดีย์ขนาดใหญ่สูงเท่านกเขาเหิน เพื่ออุทิศให้พระบิดา และสร้างพระปรางค์ประโทนเพื่ออุทิศให้ยายหอม พญาพานยังปลูกต้นโพธิ์ในที่แห่งนั้น แต่เนื่องจากพระองค์มีบาปหนา ต้นโพธิ์ไม่ยอมสูงใหญ่ดังต้นโพธิ์ทั่วไปคือดูต่ำเตี้ย ปัจจุบันมีชื่อตำบลโพธิ์เตี้ย ปรากฏอยู่

พระธาตุดอยสุเทพ เชียงใหม่

           ชื่อของดอยสุเทพ เรียกตามชื่อพระฤๅษีวาสุเทพ หรือสุเทพฤๅษีสู้สร้างนครหริภุญชัย (ลำพูน) พระฤๅษีตนบำเพ็ญตบะอยู่ ณ ภูเขาลูกนี้ ชาวบ้านจึงเรียกภูเขาดังกล่าวว่า ดอยสุเทพ
          สมัยพระยากือนา กษัตริย์ที่ ๖ แห่งราชวงศ์มังราย ทรงเสื่อมใสในพุทธศาสนา และโปรดฯ ให้สร้างเจดีย์บนดอยสุเทพพร้อมกับทรงนิมนต์พระสุมนเถะจากสุโขทัยมาประกาศพุทธศาสนา ณ เมือเชียงใหม่
พระสุมน๖เถระได้นำเอาพระบรมธาตุของพระพุทธเจ้ามาด้วยเล่ากันว่าพระบรมธาตุมาถวายพระยากือนาแห่งเชียงใหม่
           เดิมพระบรมธาตุดังกล่าวมีองค์เดียว แต่ต่อมาได้แตกเป็นสององค์ จึงบรรจุประดิษฐานไว้ที่เจดีย์ประธาน ณ วัดสวนดอก หรือ วัดบุปผารามหนึ่งองค์ และทรงอันเชิญขึ้นหลังช้างพร้อมกับปล่อยให้ช้างเดินขึ้นไปบนดอยสุเทพ จนถึงบริเวณวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพในปัจจุบัน ปรากฏว่าช้างได้คุกเข่าหมอบลง และทันทีที่อาราธนาพรบรมธาตุลงจากหลังช้างแล้ว  ช้างเชือกนั้นก็ล้มลงและสิ้นชีวิตทันทีซึ่งหมายความว่าจะไม่ยอมเป็นพาหนะของผู้ใดอีก
ถนนที่สร้างสู่ดอยสุเทพนั้นระยะทาง ๑๑ กิโลเมตร สร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๘ โดยได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านภาคเหนือผู้นำในการสร้างคือ ท่านครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ซึ่งเป็นผู้นำฝ่ายสงค์ และเจ้าแก้วนวรัฐเป็นผู้นำฝ่ายฆราวาส

พระธาตุหริภุญชัย ลำพูน


          ตำนานเล่าถึงพระพุทธเจ้าเสด็จมาบิณฑบาต ณ ชุมชนชาวเม็งเมื่อรับบิณฑบาตแล้วก็เสด็จเลียบฝั่งแม่น้ำระมิงขึ้นไปทางเหนือจนถึงสถานที่แห่งหนึ่งพระพุทธองค์ทรงวาบาตรแล้วประทับบนก้อนหินใหญ่ริมแม่น้ำ ขณะนั้นมีพญาชมพูนาคราชและพญากาเผือกออกมาอุปัฏฐากพระพุทธองค์พร้อมกับมีชาวลัวะผู้หนึ่งนำหมากสมอมาถวายเมื่อพระพุทธเจ้าเสวยแล้วทรงทิ้งเมล็ดหมากสมอลงบนพื้นดินแล้วเป็นที่อัศจรรย์ปรากฏว่าเมล็ดหมากสมอได้ทำประทักษิณสามรอบพระพุทธองค์ทรงทำนายว่า สถานที่แห่งนี้ในอนาคตจะเป็นที่ตั้งหริภุญชัย และเป็นที่ประดิษฐานเจดีพระธาตุหริภุญชัย
          หลังจากพรุพุทธองค์ทรงทำนายแล้ว พระอรหันต์ พระยาอโศก พระยาชมพูนาคราช และพญากาเผือกพร้อมกันทูลขอพระเกศธาตุ พระพุทธเจ้าทรงใช้พระหัตถ์ขวาลูบพระเศียร แล้วประทานพระเกศธาตุเส้นหนึ่ง ผู้ทูลขอทั้งสี่จึงนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้ใส่ไว้ในกระบอกไม้รวกแล้วบรรจุไว้ในโกศแก้วใหญ่ จากนั้นจึงนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำที่พระพุทธองค์เคยประทับ ส่วนหินก้อนใหญ่ที่เคยประทับนั่งก็จมลงในแผ่นดิน
          หลังจากนั้นพญาชมพูนาคราชและพญากาเผือกทำหน้าที่เฝ้าพระเกศธาตุ จนถึงสมัยพระยาพระอาทิตยราชครองหริภุญชัย พระองค์โปรดฯ ให้สร้างปราสาทที่ประทับ และอยู่มาวันหนึ่งพระองค์เสด็จเข้าสู่ห้องพระบังคน ทันใดนั้นมีกาตัวหนึ่งบินโฉบไปมา เพื่อไม่ต้องการให้พระองค์เข้าไปในห้องนั้น ในที่สุดพระยาอาทิตยราชรับสั่งให้จับกาตัวนั้นมาฆ่าเสีย แต่เทพยดาทรงบันดาลให้อำมาตย์ผุ้หนึ่งทัดทานไว้เพื่อไม่ให้กระทำปาณาติบาต
           คืนหนึ่งพระยาอาทิตยราชสุบินนิมิตว่า พระองค์นำทารกมาอยู่กับกา ๗ วัน สลับกับอยู่กับคน ๗ วัน เป็นเช่นนี้ถึง ๗ ปี จนกระทั่งทารกเจริญวัยสามารถแปลภาษากาเป็นภาษาคนได้ และทราบเรื่องพระเกศธาตุสมัยพุทธกาลที่พญากาเผือกและพญาชมพูนาคราชพิทักษ์ไว้ เมื่อพระยาอาทิยราชตื่นบรรทมก็ทรงทราบเรื่องราวจากสุบินนิมิตดังกล่าว จึงเชิญพญากาเผือกให้บินมาพบพระองค์ พญากาเผือกนี้เป็นปู่ของกาที่พระองค์เคยรับสั่งจะให้ประหาร
          เมื่อพญากาเผือกบินมาสู่ปราสาท ก็ทูลพระยาอาทิตยราชให้รื้อปราสาทที่ประทับ และให้ก่อสร้างมณฑปปราสาทเพื่อประดิษฐานพระบรมธาตุ ขณะทำพิธีโดยพระภิกษุสวดพระปริตรมงคลอาราธนาพระบรมธาตุจากที่เคยประดิษฐานในถ้ำครั้งพุทธกาลให้มาประดิษฐาน ณ นครหริภุญชัย ปรากฏเป็นที่อัศจรรย์อย่างยิ่งคือ พระบรมธาตุลอยขึ้นไปนภาอากาศสูงเท่ายอดตาล แล้วเปล่งฉัพพรรณรังสีสว่างไสวไปทั่วนครหริภุญชัยนานถึง ๗ วัน ๗ คืน มหาชนต่างพากันศรัทธาสาธุการกราบไหว้มาจนทุกวันนี้

พระธาตุพนม นครพนม


          พระธาตุพนมตั้งอยู่ ณ บริเวณพุทธาวาส หน้าวัดพระธาตุพนม บ้านธาตุพนม จังหวัดนครพนม ซึ่งอยู่ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ ๕๐๐ เมตร จากอุรังคนิทานหรือตำนานพระธาตุพนมเล่าว่า เมื่อครั้งสมัยพระพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ ณ แคว้นศรีโคตรบูรทรงประทับที่ดอยกัปปนคีรีหรือภูกำพร้า และได้รับบิณฑบาตจากพญาศรีโคตรบูร และมีพระพุทธทำนายว่า เมื่อพระองค์ปรินิพานไปแล้ว เมืองศรีโคตรบูรจะย้ายไปตั้งที่ป่าไม้รวก มีนามว่า รุกขนคร โดยมีพญาศรีโคตรบูรเป็นเจ้าเมือง จากนั้นพญาองค์นี้จะไปเกิดที่เมืองสาเกตุนคร มีนามว่า สุริยกุมาร และเมื่อเกิดอีกครั้งมีนามว่า พญาสุมิตรธรรมพญาองค์นี้มีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง จึงมีพุทธทำนายต่อไปว่า รุกขนครจะย้ายไปตั้งที่พระพุทธองค์ประทับรอยพระบาทไว้ เรียกว่า พระบาทเวินปลาปัจจุบันคือ บริเวณที่ตั้งตรงกันข้ามเมืองนครพนม
          ตำนานพระธาตุพนมได้เล่าถึงเหตุการณ์ครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จนิพพานแล้ว พระอรหันต์ทั้งหลายซึ่งมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน ได้นำพระอุรังคธาตุ (กระดูกหน้าอกของพระพุทธองค์) ผ่านมาทางหนองหานหลวง (สกลนคร) จากนั้นพญาทั้งได้มาชุมนุมกันสร้างพระธาตุพนม พญาทั้งห้า ได้แก่  พญาจุลณีพรหมทัตผู้ครองแคว้นจุลณี คือดินแดนตังเกี๋ย พญาอินทปัตถ์นครผู้ครองเมืองอินทปัตถ์หรือแคว้นกัมพูชาโบราณ พญาคำแดงผู้ครองเมืองหนองหานน้อย พญาสุวรรรภิงคารผู้ครองเมืองหนองหานหลวง และพญานันทเสนผู้ครองเมืองศรีโคตรบูร ต่างล้วนต้องการสร้างพระธาตุพนมเพื่อบรรจุพระอุรังคธาตุ ณ องค์พระเจดีย์ไว้เป็นพุทธบูชา
          หลังจากท้าวพญาทั้งห้าสร้างองค์พระธาตุเจดีย์เรียบร้อยแล้วต่างเดินทางกลับสู่บ้านเมืองตน พระมหากัสสปะพร้อมทั้งพระอรหันต์ก็กลับชมพูทวีป เล่ากันว่าผู้ทำผู้ทำหน้าที่รักษาพระธาตุพนม คือ พญานาค มีนามว่า พญาสัทโทนาคราช และบริวารอีกหกตน
           สมัยพญาสุมิตรธรรม (ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐) พระองค์ยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า ได้มีการบูรณะพระธาตุพนมขึ้นเป็นครั้งแรก และมีการเฉลิมฉลองสมโภชอย่างมโหฬาร หลังจากสมัยพญาสุมิตรธรรมแล้ว ปรากฏว่ามีผู้ครองเมืองต่ออีกสองพระองค์ ก็เกิดอาเพศแก่อาณาจักรศรีโคตรบูรตกเป็นเมืองขึ้นแก่เมืองอื่น จนกระทั้ง พ.ศ. ๑๘๐๐ พระเจ้ารามบัณฑิตแห่งกรุงศรีรัตนาคนหุต โปรดฯ ให้เจ้าศรีโคตรบูรพระโอรสไปสร้างมรุกขนครที่ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (บริเวณตอนใต้ของเมืองท่าแขก)
           ครั้น พ.ศ. ๒๐๕๗ ผู้ครองรุกขนคร คือ พระเจ้านครหลวงพิชิตทศทิศ พระองค์ได้เปลี่ยนชื่อเมืองใหม่เป็นเมืองศรีโคตรบูรตามชื่อเดิมในอดีต ยุคนี้มีการบูรณะพระธาตุพนม โดยการก่อกำแพงล้อมและซุ้มประตูคั่นกลาง
จนกระทั่งถึง พ.ศ. ๒๒๘๐ พระธรรมราชา เจ้าเมืองศรีโคตรบูรองค์สุดท้ายได้ย้ายเมืองมาตั้งที่ฝั่งขวาของแม่น้ำโขง (ฝั่งไทยปัจจุบัน) แล้วเรียกเมืองใหม่นี้ว่า เมืองนครมรุกขนครเดิมก็เสื่อมสลายลง เมืองนครก็เจริญมาตามลำดับ ต่อมาถึงสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองนครขึ้นตรงต่อกรุงเทพฯ และได้รับพระราชทานนามเมืองใหม่ว่า นครพนมคำว่า พนมมาจากคำว่า พระธาตุพนมนั่นเอง หรืออีกนัยหนึ่ง นครพนม หมายถึง เมืองแห่งภูเขา เพราะเดิมรุกขนครอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง มีภูเขาสลับซับซ้อน จึงนำคำว่า พนม ซึ่งแปลว่าภูเขามาต่อกับนคร กลายเป็นนครพนมมาจนทุกวันนี้
          เหตุการณ์เกี่ยวกับพระธาตุพนมที่สำคัญประการหนึ่งคือ เมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เนื่องจากฝนตกหนักติดต่อกันหลายวันประกอบกับมีลมพายุพัดกระโชกอย่างแรง เป็นเหตุให้พระธาตุพนมที่เก่าแก่มาตั้งแต่โบราณพังทลายลงมาทั้งองค์ หลังจากนั้นมีการบูรณะขึ้นใหม่จนสำเร็จเรียบร้อยใน พ.ศ. ๒๕๒๒
         พระธาตุพนมยังเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นปูชนียสถานสำคัญของชาวไทยและชาวลาวลุ่มแม่น้ำโขงมาจนทุกวันนี้



อ้างอิง : หนังสือ สำนวน ลำนำ ตำนาน ๔ ภูมิภาค 
             ผู้แต่ง     ร.ศ. ประพันธ์   เรืองณรงค์
             จัดพิมพ์โดย   บริษัท เรือนปัญญา จำกัด 

9 ความคิดเห็น:

  1. สวยมากเลยค่ะอยากจะไปเที่ยวแล้วสิ

    ตอบลบ
  2. ตำนานปอบมีป่าวคะ เนลอยากอ่านอะคะ

    ตอบลบ
  3. แต่ละที่มีตำนานเลยใช้ป่ะ

    ตอบลบ
  4. เคยไปพระธาตุหริภุญชัย ที่ลำพูน สวยมาก ๆ เลย

    ตอบลบ
  5. เชียงใหม่ ลำพูน นครปฐม พี่ไปมาแล้ว อิอิ

    ตอบลบ
  6. ไม่เคยไปสักที่อยากไปบ้างจัง

    ตอบลบ